วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

ข้าราชการที่ไปช่วยราชการจะได้เลื่อนเงินเดือนอย่างไร

ถาม     หากข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับมอบหมายให้ไปช่วยราชการหรือปฏิบัติราชการในหน่วยงานอื่นมีแนวทางการพิจารณาให้เลื่อนเงินเดือนอย่างไร
ตอบ     กรณีข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับมอบหมายให้ไปช่วยราชการหรือปฏิบัติราชการในหน่วยงานอื่นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการ  ให้หัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานที่ข้าราชการผู้นั้นไปช่วยราชการหรือปฏิบัติราชการมีหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการดังกล่าว  และนำอัตราเงินเดือนของผู้นั้นไปคำนวณรวมเป็นวงเงินการเลื่อนเงินเดือนและบริหารวงเงินการเลื่อนเงินเดือนในส่วนราชการหรือหน่วยงานที่ผู้นั้นไปช่วยราชการหรือปฏิบัติราชการ แล้วส่งผลการพิจารณาการเลื่อนเงินเดือนดังกล่าวให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนเงินเดือนเป็นผู้ออกคำสั่งเลื่อนเงินเดือน  โดยให้หน่วยงานต้นสังกัดเป็นผู้ติดตามผลการประเมิน   แล้วแจ้งไปยังสำนักบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อดำเนินการเสนอคำสั่งเลื่อนเงินเดือนให้ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนเงินเดือนลงนามต่อไป

            พูดง่ายๆ คือ ปฏิบัติงานที่ไหนเยอะกว่าก็ให้เลื่อนเงินเดือนที่นั่น  แต่คำสั่งเลื่อนเงินเดือนต้องออกโดยต้นสังกัดที่แท้จริงนั่นเอง  สามารถอ่านรายละเอียดได้ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.  ที่ นร 1008.1/12  ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2555

หมายเหตุ : ในอนาคต กฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ต้องตรวจสอบอีกครั้งก่อนอ้างอิงข้อมูลครับ

วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

นิยามศัพท์ที่เกี่ยวกับการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญ

                        ในบางครั้งข้าราชการที่สงสัยเกี่ยวกับการเลื่อนเงินเดือน  แล้วโทรไปถามกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล  แต่เมื่อฟังคำตอบแล้วก็ไม่ค่อยจะเข้าใจกันสักเท่าไหร่  เพราะพูดคำศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับการเลื่อนเงินเดือน  ผมจึงมีคำศัพท์เกี่ยวกับการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการ  มาอธิบายให้ข้าราชการทุกท่านได้ทราบกันคร่าวๆ ครับ  จะได้คุยกับเค้ารู้เรื่อง
“การเลื่อนเงินเดือนข้าราชการ” หมายถึง การให้บำเหน็จความดีความชอบตอบแทนให้แก่ข้าราชการที่ประพฤติตนอยู่ในจรรยา มีระเบียบวินัย และปฏิบัติราชการในรอบปีที่ผ่านมาอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจชองรัฐ
“ครึ่งปีแรก” หมายถึง ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม
“ครึ่งปีหลัง” หมายถึง ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 กันยายน
“การเลื่อนเงินเดือนครั้งที่ 1” เป็นการเลื่อนเงินเดือนสำหรับการปฏิบัติราชการในครึ่งปีแรก       (1 ตุลาคม ถึง 31 มีนาคม) โดยให้เลื่อนในวันที่ 1 เมษายน ของปีที่ได้เลื่อน  ภายในวงเงินร้อยละ 3 ของเงินเดือน   ที่จ่ายให้ข้าราชการ ณ วันที่ 1 มีนาคม
“การเลื่อนเงินเดือนครั้งที่ 2” เป็นการเลื่อนเงินเดือนสำหรับการปฏิบัติราชการในครึ่งปีหลัง       (1 เมษายน ถึง 30 กันยายน) โดยให้เลื่อนในวันที่ 1 ตุลาคม ของปีถัดไป ภายในวงเงินร้อยละ 3  ของเงินเดือนที่จ่ายให้ข้าราชการ ณ วันที่ 1 กันยายน ของปีที่แล้วมา
“ค่ากลาง”  หมายถึง ผลรวมของเงินเดือนต่ำสุด กับเงินเดือนสูงสุดที่ข้าราชการแต่ละประเภท แต่ละสายงาน และแต่ละระดับได้รับตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ. กำหนดหารด้วยสอง เพื่อให้ได้ตัวเลขที่จะนำไปใช้คิดฐานในการคำนวณ
“ฐานในการคำนวณ” หมายถึง ตัวเลขที่จะนำไปใช้ในการคิดคำนวณเพื่อเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการแต่ละประเภท แต่ละสายงาน และแต่ละระดับโดยแบ่งออกเป็น
            (1)  ฐานในการคำนวณระดับล่าง ได้แก่ ผลรวมของเงินเดือนต่ำสุดตามที่ ก.พ. กำหนดกับค่ากลาง หารด้วยสอง
            (2)  ฐานในการคำนวณระดับบน ได้แก่ ผลรวมของเงินเดือนสูงสุดตามที่ ก.พ. กำหนดกับค่ากลาง หารด้วยสอง

“ช่วงเงินเดือน” หมายถึง ช่วงของเงินเดือนระหว่างเงินเดือนขั้นต่ำถึงค่ากลาง  หรือระหว่างค่ากลางถึงเงินเดือนขั้นสูงแล้วแต่กรณี  และช่วงเงินเดือนที่ ก.พ. ปรับให้สอดคล้องกับฐานในการคำนวณด้วย

“วงเงินจัดสรรเพื่อใช้ในการเลื่อนเงินเดือน” หรือ “วงเงินร้อยละ 3” หมายถึง วงเงินร้อยละ 3 ของเงินเดือนที่จ่ายให้ข้าราชการ ณ วันที่ 1 มีนาคม หรือ 1 กันยายน แล้วแต่กรณี

วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว

            “เงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว” หรือที่ข้าราชการส่วนใหญ่มักจะเรียกติดปากว่า “ค่าครองชีพชั่วคราว”  แต่นี่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของเรื่องที่ผมจะเล่าให้ทุกท่านได้ฟังในบทความนี้ครับ
            ที่มาของเรื่องที่ผมจะเล่าต่อไปนี้เกิดขึ้นจากการที่รุ่นน้องข้าราชการของผมได้โพสข้อความแนวประชดประชันลงใน Facebook เกี่ยวกับการที่ตัวเองถูกลดค่าครองชีพชั่วคราวให้ได้รับน้อยลง  ประมาณ “จะเลื่อนเงินเดือนให้ข้าราชการทำไมในเมื่อก็จะลดค่าครองชีพอยู่ดี”  เมื่อได้อ่านข้อความเช่นนั้นผมก็รู้สึกตกใจเพราะรุ่นน้องคนนี้มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับรับค่าครองชีพชั่วคราวโดยคิดว่าจะได้ 1,500 บาท ต่อเดือนไปตลอด (รุ่นน้องผมคนนี้นั่งในตำแหน่งประเภททั่วไป)
            เมื่อเป็นเช่นนั้นผมจึงอธิบายให้เขาฟังว่า  ที่เขาเข้าใจนั้นยังไม่ถูกต้องการรับค่าครองชีพชั่วคราวในตำแหน่งประเภททั่วไปนั้น  จะได้รับ 1,500 บาท ต่อเดือน แต่รวมกับเงินเดือนแล้วต้องไม่เกิน 12,285 บาท ไม่เหมือนผู้ที่นั่งตำแหน่งประเภทวิชาการที่จะได้เงินเพิ่มจนถึง 15,000 บาท  เมื่อเงินเดือนเราเพิ่มขึ้นขยับเข้าใกล้ 12,285 บาท เท่าไหร่  ค่าครองชีพชั่วคราวที่เราได้รับก็จะลดลงเรื่อยๆ  และเมื่อเงินเดือนเราเท่ากับ 12,285 บาท ขึ้นไปเราก็จะไม่ได้รับค่าครองชีพชั่วคราวอีกต่อไป  เขาถึงเรียกว่าค่าครองชีพชั่วคราวไม่เรียกว่าค่าครองชีพถาวรนั่นเองครับ
            ข้อดีของการเพิ่มเงินเดือนแล้วค่าครองชีพชั่วคราวลดลง คือ  เงินเดือน เราจะได้รับทุกเดือน  ส่วนค่าครองชีพชั่วคราวเราจะได้รับเป็นเงินตกเบิกเมื่อคำสั่งเลื่อนเงินเดือนออกในแต่ละรอบการประเมิน  ยิ่งคำสั่งออกช้าเท่าไหร่เราก็จะได้รับเงินตกเบิกช้าเท่านั้น

            หากผู้อ่านสงสัยอะไรเกี่ยวกับ “เงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว” ก็สามารถสอบถามได้ด้านล่างนี้ครับ

วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ข้าราชการพลเรือนสามัญ ก็มีโบนัสเหมือนกัน

            หลังจากที่ภาครัฐไม่ได้จ่าย “โบนัส” หรือภาษาราชการเรียกว่า “เงินรางวัล” มาหลายปี  ในปี พ.ศ. 2556 นี้ก็มีหนังสือมาจาก สำนักงาน ก.พ.ร. จัดสรรเงินรางวัลให้หน่ายงานราชการต่างๆ  ตามผลการประเมินการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ  ซึ่งเงินจำนวนนี้  ได้มาจากเงินเหลือจ่ายในภาคราชการ  ส่งให้กรมต่างๆ จัดสรรเงินรางวัลให้แก่ข้าราชการภายในสังกัด  โดยมีข้อแม้ว่าห้ามหารเฉลี่ย  และให้กรมต่างๆ กำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินรางวัลเอง  โดยไม่ขัดกับหลักเกณฑ์ของ สำนักงาน ก.พ.ร.  ที่สำคัญคือเป็นเงินรางวัลสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ครับ
            สำหรับรายละเอียดหลักๆ ในการจ่ายเงินรางวัลมีดังนี้
ให้ส่วนราชการแบ่งเงินเป็น 2 ส่วน คือ 
เงินรางวัลสำหรับความร่วมมือในการปฏิบัติงาน ส่วนนี้ไม่เกิน 30% และหารเฉลี่ยได้
เงินรางวัลสำหรับความรับผิดชอบทุ่มเทในการปฏิบัติงานตามภารกิจหลักของส่วนราชการ  หรือเรียกง่ายๆ คือ เงินรางวัลตามผลการปฏิบัติงานนั่นเอง  ส่วนนี้ห้ามหารเฉลี่ย ต้องจ่ายไม่ต่ำกว่า 70%  โดยผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลในส่วนนี้ต้องมีผลการปฏิบัติงาน 2 รอบการประเมินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 รวมกันแล้วไม่ต่ำกว่าคะแนน 3
 หลักๆ ก็มีประมาณนี้ครับ  สำหรับรายละเอียดปลีกย่อยนั้นผู้อ่านสามารถอ่านรายละเอียดได้ตามหลังสือ สำนักงาน ก.พ.ร. ที่ นร 1201/1054  ลงวันที่ 4 เมษายน 2556 เรื่อง แจ้งผลการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554

สำหรับฝ่ายทรัพยากรบุคคลของแต่ละกรม  ก็มีงานหนักรออยู่ครับ  เพราะเป็นการจ่ายเงินรางวัลของประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554  แต่หนังสือนี้ออกมา ปี พ.ศ. 2556  ทำย้อนหลังตั้ง 2 ปี  ข้อมูลจะยังครบอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้  สำหรับข้าราชการที่รอรับเงินรางวัลก็รอหน่อยละกันครับ

วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556

ข้าราชการมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลอะไรบ้าง


                ค่าตอบแทนที่รัฐจัดให้ข้าราชการมีอยู่ 2 ประเภท คือ
1) เงินเดือน
2) สวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูล
                ข้าราชการส่วนใหญ่มักจะสนใจเกี่ยวกับเรื่องเงินเดือนมากกว่า  ว่าจะได้รับเงินเดือนเท่าไหร่หรือได้เลื่อนเงินเดือนจำนวนเท่าไหร่  แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันอย่างสวัสดิการประโยชน์เกื้อกูลจะให้ความสำคัญรองลงมา  จนทำให้ตัวเองเสียโอกาส  ผมจึงอยากจะมาเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ว่า สวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลของข้าราชการมีอะไรบ้าง
สวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลของข้าราชการ  คือ ค่าตอบแทนต่าง ๆ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างของส่วนราชการ  นอกเหนือจากเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับประจำ  เพื่อให้ข้าราชการมีความมั่นคงในชีวิต  ตลอดจนช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน  และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ข้าราชการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล  มีดังนี้
1. สวัสดิการที่ไม่เป็นตัวเงิน
1.1 การลาป่วย
1.2 การลาคลอดบุตร
1.3 การลากิจส่วนตัว
1.4 การลาพักผ่อน
1.5 การลาอุปสมบทหรือลาไปประกอบพิธีฮัจย์
1.6 การลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล (เกณฑ์ทหาร)
1.7 การลาศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัย
1.8 การลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ
1.9 การลาติดตามคู่สมรส
1.10 กรณีพฤติการณ์พิเศษ (น้ำท่วม ,ไฟใหม้หรือเหตุการณ์ที่ขัดขวางไม่ให้มาปฏิบัติงานได้)
                2. สวัสดิการที่เป็นตัวเงิน
2.1 ค่ารักษาพยาบาล
2.2 เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตร
                3. เงินสวัสดิการสำหรับปฏิบัติงานประจำสำนักงานนอกเวลาราชการ
                4. เงินตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ
                5. ค่าเช่าบ้าน
                6. โครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยของข้าราชการ
                7. ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการในราชอาณาจักร
8. บำเหน็จบำนาญ (กรณีเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข.)
9. เครื่องราชอิสริยาภรณ์


วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556

ข้าราชการที่บรรจุก่อนก็ได้รับเงินเดือนตามนโยบายเงินเดือน 15000 เหมือนกันนะ


ข้าราชการหลายคนถามกันบ่อยว่าจะได้รับการปรับเงินเดือนหรือไม่  หากไม่ได้ปรับเงินเดือนก็จะทำให้ได้เงินเดือนน้อยกว่าคนที่บรรจุใหม่สิ  เป็นความกังวลของข้าราชการที่บรรจุก่อนที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะกำหนดนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15000 บาท
ไม่ต้องเป็นกังวลไปครับรัฐบาลเขามีมาตรการเยียวยาคนที่บรรจุก่อนอยู่แล้ว  โดยกำหนดหลักเกณฑ์การปรับเงินเดือนตามคุณวุฒิในหนังสือเวียน ก.พ. ว 20/2555  โดยแบ่งการปรับเงินเป็น 2 ช่วง คือ  1 ม.ค. 56 และ 1 ม.ค. 57  ซึ่งจำนวนเงินที่ได้เพิ่มขึ้นตามคุณวุฒินั้นจะมีจำนวนไม่เท่ากัน  โดยจะได้เพิ่มตามฐานเงินเดือนของข้าราชการแต่ละคน  ผมจะยกตัวอย่างคนที่มีตำแหน่งที่ต้องใช้วุฒิ ป.ตรี นะครับ  จะแบ่งเป็นช่วงเงินเดือนดังนี้




หากสงสัยตรงจุดไหนสามารถสอบถามได้ครับ  ทิ้งคำถามไว้ด้านล่างนี้ได้เลยครับ

วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2556

และแล้วข้าราชการวุฒิ ป. ตรี ก็จะได้เงินเดือน 15,000 เสียที

เงินเดือนข้าราชการ 15000
img by freedigitalphotos.net


          ตามหนังสือ สำนักงาน ก.พ.  ว 20/2555 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2555  ได้กำหนดอัตราเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสามัญ  ที่จะปรับเป็น 15,000 บาท  ตามนโยบายของรัฐบาลออกมาแล้ว  หลังจากที่รอคอยกันมาอย่างยาวนาน  ว่าเมื่อไหร่จะได้รับการปรับเงินเดือนกันเสียที  โดยจะแบ่งการปรับเงินเดือนเป็น 2 ครั้ง ด้วยกัน คือ
ครั้งที่ 1 ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป
ปวช  เงินเดือนขั้นต่ำ  8,300  บาท
ปวส  เงินเดือนขั้นต่ำ  10,200  บาท
ป.ตรี  เงินเดือนขั้นต่ำ  13,300  บาท
ป.โท  เงินเดือนขั้นต่ำ  16,400  บาท
ป.เอก  เงินเดือนขั้นต่ำ  20,000  บาท

ครั้งที่ 2 ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป
ปวช  เงินเดือนขั้นต่ำ  9,400  บาท
ปวส  เงินเดือนขั้นต่ำ  11,500  บาท
ป.ตรี  เงินเดือนขั้นต่ำ  15,000  บาท
ป.โท  เงินเดือนขั้นต่ำ  17,500  บาท
ป.เอก  เงินเดือนขั้นต่ำ  21,000  บาท

          ตัวอย่าง  คนที่บรรจุวุฒิปริญญาตรี  สรุปง่ายๆ ได้ดังนี้
คนที่บรรจุตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 56  ถึง  31 ธ.ค. 56  เงินเดือนแรกบรรจุก่อนรวบกับปัจจัยต่างๆ เงินเดือนข้าราชการที่บรรจุวุฒิ ป.ตรี จะอยู่ที่ 13,300 บาทครับ  หากใคร  หากใครที่ปัจจัยเพิ่ม เช่น ประสบการณ์การทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้อง  มีปริญญา 2 ใบ ที่เกี่ยวข้องกัน เป็นต้น  ก็จะได้รับเงินเดือนเพิ่มตามปัจจัยที่มีนั้นๆ
        ส่วนคนที่บรรจุตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 57 เป็นต้นไป จะได้รับเงินเดือน 15,000 บาท  ก่อนรวมกับค่าปัจจัยที่มีครับ
          และแล้วรัฐบาลก็ทำตามนโยบายที่ให้ไว้ครับ  ข้าราชการทุกคนที่ได้ปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นตามนโยบาย 15,000 นี้แล้ว  ก็ตั้งใจทำงานให้สมกับเงินเดือนที่ได้รับนะครับ