วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

ข้าราชการที่ไปช่วยราชการจะได้เลื่อนเงินเดือนอย่างไร

ถาม     หากข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับมอบหมายให้ไปช่วยราชการหรือปฏิบัติราชการในหน่วยงานอื่นมีแนวทางการพิจารณาให้เลื่อนเงินเดือนอย่างไร
ตอบ     กรณีข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับมอบหมายให้ไปช่วยราชการหรือปฏิบัติราชการในหน่วยงานอื่นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการ  ให้หัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานที่ข้าราชการผู้นั้นไปช่วยราชการหรือปฏิบัติราชการมีหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการดังกล่าว  และนำอัตราเงินเดือนของผู้นั้นไปคำนวณรวมเป็นวงเงินการเลื่อนเงินเดือนและบริหารวงเงินการเลื่อนเงินเดือนในส่วนราชการหรือหน่วยงานที่ผู้นั้นไปช่วยราชการหรือปฏิบัติราชการ แล้วส่งผลการพิจารณาการเลื่อนเงินเดือนดังกล่าวให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนเงินเดือนเป็นผู้ออกคำสั่งเลื่อนเงินเดือน  โดยให้หน่วยงานต้นสังกัดเป็นผู้ติดตามผลการประเมิน   แล้วแจ้งไปยังสำนักบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อดำเนินการเสนอคำสั่งเลื่อนเงินเดือนให้ผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนเงินเดือนลงนามต่อไป

            พูดง่ายๆ คือ ปฏิบัติงานที่ไหนเยอะกว่าก็ให้เลื่อนเงินเดือนที่นั่น  แต่คำสั่งเลื่อนเงินเดือนต้องออกโดยต้นสังกัดที่แท้จริงนั่นเอง  สามารถอ่านรายละเอียดได้ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.  ที่ นร 1008.1/12  ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2555

หมายเหตุ : ในอนาคต กฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ต้องตรวจสอบอีกครั้งก่อนอ้างอิงข้อมูลครับ

วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

นิยามศัพท์ที่เกี่ยวกับการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญ

                        ในบางครั้งข้าราชการที่สงสัยเกี่ยวกับการเลื่อนเงินเดือน  แล้วโทรไปถามกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล  แต่เมื่อฟังคำตอบแล้วก็ไม่ค่อยจะเข้าใจกันสักเท่าไหร่  เพราะพูดคำศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับการเลื่อนเงินเดือน  ผมจึงมีคำศัพท์เกี่ยวกับการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการ  มาอธิบายให้ข้าราชการทุกท่านได้ทราบกันคร่าวๆ ครับ  จะได้คุยกับเค้ารู้เรื่อง
“การเลื่อนเงินเดือนข้าราชการ” หมายถึง การให้บำเหน็จความดีความชอบตอบแทนให้แก่ข้าราชการที่ประพฤติตนอยู่ในจรรยา มีระเบียบวินัย และปฏิบัติราชการในรอบปีที่ผ่านมาอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจชองรัฐ
“ครึ่งปีแรก” หมายถึง ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม
“ครึ่งปีหลัง” หมายถึง ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 กันยายน
“การเลื่อนเงินเดือนครั้งที่ 1” เป็นการเลื่อนเงินเดือนสำหรับการปฏิบัติราชการในครึ่งปีแรก       (1 ตุลาคม ถึง 31 มีนาคม) โดยให้เลื่อนในวันที่ 1 เมษายน ของปีที่ได้เลื่อน  ภายในวงเงินร้อยละ 3 ของเงินเดือน   ที่จ่ายให้ข้าราชการ ณ วันที่ 1 มีนาคม
“การเลื่อนเงินเดือนครั้งที่ 2” เป็นการเลื่อนเงินเดือนสำหรับการปฏิบัติราชการในครึ่งปีหลัง       (1 เมษายน ถึง 30 กันยายน) โดยให้เลื่อนในวันที่ 1 ตุลาคม ของปีถัดไป ภายในวงเงินร้อยละ 3  ของเงินเดือนที่จ่ายให้ข้าราชการ ณ วันที่ 1 กันยายน ของปีที่แล้วมา
“ค่ากลาง”  หมายถึง ผลรวมของเงินเดือนต่ำสุด กับเงินเดือนสูงสุดที่ข้าราชการแต่ละประเภท แต่ละสายงาน และแต่ละระดับได้รับตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ. กำหนดหารด้วยสอง เพื่อให้ได้ตัวเลขที่จะนำไปใช้คิดฐานในการคำนวณ
“ฐานในการคำนวณ” หมายถึง ตัวเลขที่จะนำไปใช้ในการคิดคำนวณเพื่อเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการแต่ละประเภท แต่ละสายงาน และแต่ละระดับโดยแบ่งออกเป็น
            (1)  ฐานในการคำนวณระดับล่าง ได้แก่ ผลรวมของเงินเดือนต่ำสุดตามที่ ก.พ. กำหนดกับค่ากลาง หารด้วยสอง
            (2)  ฐานในการคำนวณระดับบน ได้แก่ ผลรวมของเงินเดือนสูงสุดตามที่ ก.พ. กำหนดกับค่ากลาง หารด้วยสอง

“ช่วงเงินเดือน” หมายถึง ช่วงของเงินเดือนระหว่างเงินเดือนขั้นต่ำถึงค่ากลาง  หรือระหว่างค่ากลางถึงเงินเดือนขั้นสูงแล้วแต่กรณี  และช่วงเงินเดือนที่ ก.พ. ปรับให้สอดคล้องกับฐานในการคำนวณด้วย

“วงเงินจัดสรรเพื่อใช้ในการเลื่อนเงินเดือน” หรือ “วงเงินร้อยละ 3” หมายถึง วงเงินร้อยละ 3 ของเงินเดือนที่จ่ายให้ข้าราชการ ณ วันที่ 1 มีนาคม หรือ 1 กันยายน แล้วแต่กรณี